บทความทางวิชาการเรื่อง
"บุคลิกภาพที่ดีของข้าราชการตำรวจ"

โดย...พ.ต.ท.วิโรจน์ บำรุง อาจารย์ (สบ 2) กลุ่มงานอาจารย์ ศฝร.ภ.8

              บุคลิกภาพที่ดีของข้าราชการตำรวจ
              
1.บทนำ
              
จากผลการศึกษา พบว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มักเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพในทางที่ดี เป็นผู้ที่มีความตื่นตัว พัฒนา และปรับปรุงตัวเองให้ทันโลก ทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดีย่อมสร้างความเชื่อถือ ความเลื่อมใส ความศรัทธา ก่อให้เกิดความเกรงอกเกรงใจแก่บุคคลผู้พบเห็นโดยทั่วไป
              
ดังนั้น การพัฒนาบุคลิกภาพ จึงเป็นประโยชน์กับมนุษย์ทุกคนทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาชีพข้าราชการตำรวจด้วยแล้ว บุคลิกภาพมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจาก อาชีพตำรวจเป็นอาชีพ ที่ต้องใกล้ชิดกับประชาชน และพบปะกับประชาชนอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ ส่วนใหญ่ต้องแต่งเครื่องแบบ เครื่องแบบของข้าราชการตำรวจจะสง่างามได้นั้น ผู้ที่สวมใส่เครื่องแบบข้าราชการตำรวจ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีบุคลิกภาพภายนอกที่ดี คือ แต่งกายด้วยเครื่องแบบถูกต้องตามระเบียบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด ดูแลรูปร่างให้สมสัดส่วน รักษาเครื่องแต่งกายให้สะอาด และมีบุคลิกภาพภายในที่ดี คือ มีความรู้สึกนึกคิด มีทัศนคติที่ดีและมีคุณธรรมประจำใจ ย่อมส่งผลให้ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีบุคลิกภาพที่ดียิ่งขึ้น
              
การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นการพัฒนาความสามารถของแต่ละบุคคลที่มีอยู่ในตัว ดึงส่วนที่ดี ที่มีประโยชน์ในตัวของแต่ละบุคคล นำมาพัฒนาให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ ทำให้เป็นผู้มีคุณค่า มีศักยภาพ มีคุณภาพที่สมบูรณ์ เป็นองค์ประกอบที่จะนำพาชีวิตของตนเองและครอบครัวไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งความสำเร็จ และเมื่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัวทุกๆครอบครัวประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้สังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวมประสบความมั่นคง ผาสุก เจริญก้าวหน้าเท่าเทียมอารยะประเทศต่อไป
              
ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอในประเด็นที่สำคัญ คือ ความหมายของบุคลิกภาพ และบุคลิกภาพในฐานะที่เป็นข้าราชการตำรวจ ดังรายละเอียดที่จะนำเสนอในลำดับต่อไป
              
2. ความหมายของบุคลิกภาพ ตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
              
บุคลิก (บุกคะลิก, บุกคะลิกกะ) หมายความว่า จำเพาะ
              
บุคลิกภาพ (บุกคะลิกกะพาบ) หมายความว่า สภาพนิสัยจำเพาะคน หรือในบางแห่ง จะหมายความว่า ลักษณะเฉพาะประจำตัวของแต่ละบุคคลที่ปรากฏให้เห็น
              
บุคลิกลักษณะ (บุกคะลิกกะลักสะหนะ) หมายความว่า ลักษณะจำเพาะของแต่ละคน
              
ในพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาอังกฤษ - ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า บุคลิกภาพ หมายถึง ผลรวมของความคิด ท่าที และนิสัย ซึ่งสร้างสมจากมูลฐานองค์ประกอบทางจิตและ ทางกายภาพของบุคคล อันถ่ายทอดมาถึงชีววิทยาส่วนหนึ่ง และจากแบบอย่างวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดทางสังคมอีกส่วนหนึ่ง กับรวมถึงการปรับเหตุจูงใจ ความปรารถนามุ่งประสงค์ของบุคคลนั้น ให้เข้ากับความต้องการและวิสัยแห่งสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคมและที่ไม่เกี่ยวกับสังคม
              
คำว่า บุคลิกภาพ มาจากภาษาลาตินว่า "Persona" แปลว่า หน้ากาก ที่ตัวละครสมัยกรีซและโรมันสวมใส่ เพื่อแสดงบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันให้ผู้อื่นเห็นได้ในระยะไกลๆ
              
นักจิตวิทยาได้ให้ความหมายของคำว่า "บุคลิกภาพ" ไว้ต่างๆ ดังนี้
              
บุคลิกภาพ หมายถึง สภาวะทุกอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นตัวบุคคล โดยหมายรวมถึงคุณสมบัติหรือคุณลักษณะทางจิต ซึ่งมีอิทธิพลหรือผลต่อการกระทำของบุคคล ในสถานการณ์ต่างๆ
              
บุคลิกภาพ เป็นหน่วยรวมของระบบทางกาย และจิต ภายในตัวบุคคล ซึ่งกำหนดลักษณะการปรับตัวเป็นแบบเฉพาะของบุคคลนั้นต่อสิ่งแวดล้อมของเขา
              
บุคลิกภาพ ของแต่ละบุคคลเห็นได้ชัดเจนจากลักษณะนิสัยจากการคิด และการแสดงออก รวมทั้งทัศนคติ และความสนใจต่างๆ กิริยาท่าทาง ตลอดจนปรัชญาชีวิตที่บุคคลนั้นยึดถือ
              
บุคลิกภาพ ครอบคลุมสภาวะทุกอย่าง ซึ่งประกอบขึ้นเป็นตัวบุคคล นับตั้ง แต่สภาวะทางกาย อารมณ์ ทักษะ ความสนใจ ความคิดหวัง ความรู้สึก ลักษณะท่าทาง นิสัย ปัญญา ตลอดจนความสำเร็จที่บุคคลนั้นได้รับ รวมทั้งการปรับตัวของแต่ละบุคคลในการเผชิญปัญหา หรือความคับข้องใจที่เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ของชีวิต
              
จะเห็นได้ว่าคำจำกัดความของบุคลิกภาพนั้น มีผู้ให้ความเห็นในหลายทัศนะ และมีองค์ประกอบอย่างกว้างขวาง เช่น คุณลักษณะส่วนตัว แนวความคิด ทัศนคติ ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น บุคลิกภาพจึงเป็นผลรวมของการผสมผสานปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นนั่นเอง
              
ในทรรศนะของผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่า บุคลิกภาพ คือ คุณสมบัติประจำตัวของแต่ละบุคคล ทั้งบุคลิกภาพภายใน เช่น ความรู้สึก อารมณ์ จิตใจ ฯลฯ และบุคลิกภาพภายนอก เช่น รูปลักษณ์ ลักษณะท่าทาง ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้บางส่วนติดตัวมาแต่กำเนิด บางส่วนได้รับมาจากสภาพแวดล้อม อาชีพ ค่านิยม ฯลฯ โดยได้รับมาทั้งส่วนที่ดี และส่วนที่ไม่ดี แต่โดยภาพรวมแล้ว บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล สามารถปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นได้ไม่ยาก จากการศึกษา การเรียนรู้ และการนำไปปฏิบัติแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง เพื่อนำพาตนเองไปสู่ความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่การงาน ครอบครัว และสามารถดำรงตน อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสุข
               สิ่งที่มีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพ

              
นิสัย คือ ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ลักษณะแนวทางที่ผู้นั้นกระทำอยู่จนเป็นนิสัย
              
พฤติกรรม คือ การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ซึ่งรวมทั้งพฤติกรรมภายนอก เช่น การเดิน ยืน เป็นต้น และพฤติกรรมภายใน เช่น การคิด เจตคติ ความหิว ความโกรธ เป็นต้น ไม่ว่าการกระทำนั้น ผู้กระทำจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และบุคคลอื่นจะสังเกตการกระทำนั้นได้หรือไม่ก็ตาม เพื่อตอบ สนองต่อ สิ่งใดสิ่งหนึ่งในสภาพการณ์ใดสภาพการณ์หนึ่ง
              
อุปนิสัย ความประพฤติที่เคยชินจนเกือบจะเป็นนิสัย ถ้ามีอุปนิสัยที่ดีน่ารัก น่านิยม ย่อมเป็นแรงดึงดูดให้มีเสน่ห์เป็นที่นิยมชมชอบยกย่องของคนทั่วไป ผู้ที่มีอุปนิสัยที่ไม่ดี ควรรีบปรับปรุงแก้ไขความ ประพฤติหรือความเคยชินที่ไม่ดีนั้นเสียก็จะทำให้บุคลิกภาพดีขึ้น
              
จรรยามารยาท การแสดงออกของมนุษย์ ทั้งโดยกิริยาท่าทาง หรือการประพฤติต่อสังคมสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่
               ปัจจัยสำคัญที่กำหนดบุคลิกภาพ

              
ปัจจัยตัวกำหนดพฤติกรรมสิ่งที่ทำให้บุคลิกของมนุษย์แตกต่างกัน ซึ่งมีมาจากหลายสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้
              
1. พันธุกรรม บุคลิกบางอย่างของบางคน เป็นสิ่งที่ติดมากับตนเองจากสายเลือดหรือพันธุกรรม เช่น รูปร่างหน้าตา อากัปกิริยา นิสัยใจคอ อารมณ์ จิตใจ อาจจะสืบพันธ์มาจากบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย แต่ละลักษณะการถ่ายทอดของบุตรหลานผู้นั้นที่จะได้รับมา บางคนรับในส่วนที่ไม่ดีมา ก็ทำให้บุคลิกไม่ดี เช่น หน้าตาไม่สวย ผิวดำ จิตใจโหดร้ายทารุณ คับแคบ เห็นแก่ตัว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เป็นบุคลิกที่ได้สืบทอดมาตามสายเลือดหรือพันธุกรรมอันเป็นพื้นฐานของแต่ละคน มนุษย์จึงต้องวิเคราะห์ว่าสิ่งใดที่ได้รับการถ่ายทอดมาเป็นสิ่งดี ก็เสริมสร้างพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นหรือไม่ต้องพัฒนาก็ดีอยู่แล้ว ส่วนสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องก็แก้ไข ปรับปรุง พัฒนาให้ดีขึ้น
              
ดังนั้น ลักษณะทางชีวภาพ หรือลักษณะทางชีววิทยามีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ ความเป็นตัวเป็นตนของบุคคลเหมือนกัน เพราะบุคคลเกิดมามีกายภาพ และชีวภาพ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นส่วนของ กรรมพันธุ์ที่ได้จากยีนส์ (Genes) ของผู้เป็นพ่อแม่
              
2. สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็น อากาศ อุณหภูมิ ภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ ครอบครัว สถาบันการศึกษา และภาษา ย่อมทำให้มนุษย์มีบุคลิกแตกต่างกันในแต่ละถิ่น แต่ละภาคเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง ที่ทำให้บุคลิกภาพของคนเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว มนุษย์ จึงต้องวิเคราะห์ศึกษา เพื่อนำมาแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาบุคลิกของตน ให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ทำให้เกิดความรู้สึก สำนึกในความเป็นตัวเอง แยกจากผู้อื่นได้
               ความสำคัญของการมีบุคลิกภาพที่ดี

              
ผู้มีบุคลิกภาพดีนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดีเป็นเบื้องต้น แล้วจะเป็นผู้ที่สามารถมองเห็น สิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริงอย่างถูกต้อง ไม่ต่อต้านหรือยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างโดยไร้หลักการ และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ก็ยังสามารถประพฤติปฏิบัติได้อย่างคงเส้นคงวา นั่นคือ การเป็นบุคคลที่สามารถปรับตัวได้ดี
              
การมีบุคลิกภาพที่ดีนั้น จะส่งผลให้บุคคลนั้นมีลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
              
1. มีความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจสภาพความจริงได้อย่างถูกต้อง
              
2. การแสดงอารมณ์จะอยู่ในลักษณะและขอบเขตที่เหมาะสม
              
3. มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสังคมได้ดี
              
4. มีความสามารถในการทำงานที่อำนวยประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมได้ดี
              
5. มีความรักและความผูกพันต่อผู้อื่น
              
6. มีความสามารถในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทางการแสดงออกของตนต่อผู้อื่นได้ดีขึ้น
              
3. บุคลิกภาพที่ดีตามระเบียบปฏิบัติในฐานะที่เป็นข้าราชการตำรวจ
              
บุคลิกภาพ ของแต่ละบุคคลเห็นได้ชัดเจนจากลักษณะนิสัยจากการคิด และการแสดงออก รวมทั้งทัศนคติ และความสนใจต่างๆ กิริยาท่าทาง ตลอดจนปรัชญาชีวิตที่บุคคลนั้นยึดถือ
               พระราชบัญญัติ วัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485

              
มาตรา 5 กล่าวถึงบุคคลทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมแห่งชาติ และต้องผดุงส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ โดยรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมตามประเพณีอันดีงามและช่วยกันปรับปรุงทะนุ บำรุงให้ดียิ่งขึ้นตามกาลสมัย
              
มาตรา 6 วัฒนธรรมซึ่งบุคคลจักต้องปฏิบัติตาม นอกจากจะได้กำหนดไว้โดยพระราชบัญญัติแล้ว ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
              
1. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการแต่งกาย จรรยาและมรรยาท ในที่สาธารณะสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน
              
2. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการปฏิบัติตน และการปฏิบัติต่อบ้านเรือน
              
3. ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการประพฤติตน อันเป็นทางนำมาซึ่งเกียรติของชาติไทยและพระพุทธศาสนา
              
4. ความมีสมรรถภาพ และมรรยาทเกี่ยวกับวิธีดำเนินงานอาชีพ
              
5. ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจและศีลธรรมของประชาชน
              
6. ความเจริญก้าวหน้าในทางวรรณกรรมและศิลปกรรม
              
7. ความนิยมไทย
               พระราชกฤษฎีกา กำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485

              
มาตรา 3 บุคคลทุกคนจักต้องรักษาจรรยามารยาทอันดีงาม ในที่สาธารณสถานหรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดย
              
1. ไม่ก่อให้เกิดเสียงอื้อฉาวโดยใช้เหตุ หรือใช้วาจาเสียดสี หรือลามก หยาบคาย หรือแสดงกิริยาวาจาเป็นเชิงเสียดสี เย้ยหยันผู้ที่ปฏิบัติตนในทางเชิดชู หรือส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ
              
2. ไม่ใช้กำลังเบียดเสียดยื้อแย่งในที่ชุมนุมชน เช่น ในการโดยสารยานพาหนะ
              
3. ไม่ก่อความรำคาญ ด้วยการห้อมล้อม หรือกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุสมควร
              
4. ไม่ก่อให้เกิดความปฏิกูลหรือขีดเขียนในที่อันไม่ควรทำ
              
5. ไม่อาบน้ำตามถนนหลวงอันเป็นที่ชุมนุมชน
              
6. ไม่นั่ง นอน หรือยืนบนราวสะพาน
              
7. ไม่นั่ง หรือนอนบนทางเท้า
              
8. ไม่ใช้กำลังยื้อแย้งทาน หรือรับของแจก
              
มาตรา 4 ในการปฏิบัติต่อบ้านเรือน บุคคลทุกคนจักต้องรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่าที่ปรากฏแก่สาธารณชน โดย
              
1. ไม่ตากผ้า หรือสิ่งอื่น ให้รุงรังอย่างอุดจาด
              
2. ไม่ขีดเขียน หรือปิดข้อความหรือภาพอันอุดจาด
              
3. ไม่ปล่อยให้สิ่งของมีลักษณะรุงรัง
              
4. ไม่ทำส้วม และที่สำหรับทิ้งมูลฝอย และสิ่งปฏิกูล อันมีลักษณะอุดจาด
               ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 22 การแต่งเครื่องแบบ

               บทที่ 1 ลักษณะทั่วไป
              
เครื่องแบบตำรวจที่ทางราชการกำหนดขึ้น เป็นเครื่องแสดงถึง สัญลักษณ์ของผู้แต่งว่าเป็นข้าราชการผู้ทรงเกียรติเหล่าหนึ่ง ซึ่งต่างจากข้าราชการอื่นๆ และยังมีความหมายให้รู้ว่าผู้แต่งมีหน้าที่ รักษากฎหมาย และคอยพิทักษ์รับใช้ประชาชน
              
พระราชหัตเลขาในราชกาลที่ 5 ผู้ทรงพระราชทานกำเนิดเครื่องแบบตำรวจว่า " สีกากี " ภาษาเปอร์เซียน แปลว่า " สีแผ่นดิน " จึงน่าจะมีพระราชประสงค์ว่า ตำรวจต้องเป็นตำรวจของแผ่นดิน เป็นผู้รักษาแผ่นดิน หรือต้องบำบัดทุกข์ให้ความร่มเย็นเป็นสุข รักษาความปลอดภัย และให้ความอุ่นใจประชาชนทุกชาติ ชั้น วรรณะ เหมือนแผ่นดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้ความสุขแก่สัตว์ทุกจำพวก
              
ฉะนั้น ผู้แต่งเครื่องแบบต้องรักศักดิ์ศรี มีจิตใจสูง เข้มแข็ง หนักแน่น อดทน เสียสละ สุภาพ อ่อนโยน มีวินัยดี มีศีลธรรมและวัฒนธรรม ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความสามัคคีกัน
              
การแต่งกายเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดหมดจด ยังชักจูงใจให้ประชนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส เป็นการเข้าถึงจิตใจประชาชนในเบื้องต้น เครื่องแบบทุกชิ้นส่วนจึงควรให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมได้ส่วนสัดรัดกุม ที่เป็นผ้าต้องซักรีดให้เรียบร้อย ที่เป็นโลหะ หรือหนัง ต้องขัดถูให้สะอาดเป็นเงางามและ ต้องแต่งให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงทุกประการ
              
ข้อ 1. การแต่งเครื่องแบบตำรวจนั้น ต้องให้เป็นเครื่องเตือนสติแก่ข้าราชการตำรวจ ที่จะรักษาวินัยตำรวจ ความประพฤติ และมารยาท สมเกียรติของตำรวจ การที่ตำรวจแต่งกายเรียบร้อย หมดจด ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ย่อมดูผึ่งผายองอาจเป็นสง่า แสดงให้เห็นว่า ตำรวจในกรมกองนั้น มีระเบียบวินัยดี เป็นที่น่าเกรงขามแก่หมู่พาลชน ไม่กล้าที่จะก่อเหตุร้ายขึ้น หากบกพร่องในการ แต่งเครื่องแบบก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ตำรวจในหน่วยนั้นๆ มีสมรรถภาพ ระเบียบวินัย ตลอดจนการปฏิบัติงานอ่อนแอ ไม่เป็นที่เลื่อมใสของประชาชน
              
ข้อ 2. เครื่องแบบ และส่วนประกอบของเครื่องแบบ ต้องสะอาดเรียบร้อย และแต่งให้ ครบชุด สีของเครื่องแบบต้องไม่ผิดเพี้ยน หรือเข้มผิดปกติ เครื่องแบบประเภทไหนมีส่วนประกอบอย่างใด ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ การแต่งเครื่องแบบไม่ครบชุด เช่น สวมแต่เสื้อไม่สวมหมวก หรือสวมหมวก ไม่คาดเข็มขัด หรือคาดหย่อนยานไม่มีขอบรับ ไม่ติดเลขประจำตัว หรือสถานี หรือชื่อหน่วยงานที่สังกัด ไม่กลัดคอเสื้อ หรือแต่งเกินไปกว่าที่กำหนด ให้แต่ง เช่น ประดับสายนกหวีด ในเวลาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เวรยามประจำ หรือควบคุมแถว ถือได้ว่า แต่งเครื่องแบบไม่เรียบร้อย
              
ข้อ 3. เครื่องแบบและส่วนประกอบทุกชิ้น ตลอดจนสีของผ้าตัดเครื่องแบบ ต้องเป็นไปตามลักษณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด หรือจัดทำขึ้นเป็นตัวอย่าง ห้ามมิให้ดัดแปลงให้ ผิดแปลกไปจากแบบที่กำหนด หรือตัวอย่าง
              
ข้อ 4. สีของเสื้อ กางเกง และหมวก จะต้องไม่แตกต่างกันจนเห็นได้ชัด ห้ามใช้สีเข้ม สีซีดจางไปจากสีผ้าเครื่องแบบที่กรมตำรวจกำหนดไว้ชัดเจนน่าเกลียด รูปทรงของเสื้อ กางเกงและหมวก ต้องเป็นไปโดยสุภาพเหมาะสมกับขนาดทรวดทรงร่างกายของตน ต้องไม่คับหรือหลวมเกินไป หมวกต้องเป็นทรงตึงไม่บู้บี้
              
ข้อ 5. การแต่งเครื่องแบบ เมื่อมีหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือบัตรเชิญไปในงานใดให้ แต่งเครื่องแบบตามที่กำหนดไว้ในหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือบัตรเชิญนั้นๆ แต่ถ้ากรณีนั้นๆ มิได้กำหนดให้แต่งเครื่องแบบอย่างใด ให้แต่งอย่างสุภาพตามสมัยนิยม และเหมาะสมกับงาน
               ข้อ 6. ผู้แต่งเครื่องแบบจะต้องสวมหมวกเสมอ หมวกที่สวมนั้น ต้องเป็นหมวกตามแบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่ทรงบู้บี้ เว้นแต่ ได้เข้าไปในสถานที่ราชการหรือเคหะสถาน ที่ใดแล้ว ให้ถอดหมวกตามประเพณีได้
               ข้อ 7. ห้ามนำหนังสือ หรือวัตถุอื่นใด ใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงจนดูไม่เรียบร้อย
               ข้อ 8. ในเวลาเต่งเครื่องแบบ ห้ามมิให้ใช้ผ้าอื่นใดพันคอเพื่อซับเหงื่อ เว้นแต่ เวลาสวมเครื่องแบบเสื้อนอกคอปิด ถ้าจะใช้ผ้าซับเหงื่อก็ให้ใช้ผ้าสีขาว
               ข้อ 9. ห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจแต่งกายไม่สุภาพเข้าไปในสถานที่ราชการ เช่น สวมรองเท้าแตะ หรือนุ่งกางเกงแพร หรือโสร่ง เป็นต้น เว้นแต่ สถานที่นั้นเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการและเป็น เวลานอกราชการ
               ข้อ 10. การแต่งกายสากล ต้องแต่งให้เรียบร้อยตามประเพณีนิยม
               ข้อ 11. เมื่อแต่งเครื่องแบบปกติเสื้อเชิ้ตคอพับกากี ขณะอยู่ตามลำพัง ผ่อนผันให้เปิดกระดุมคอเม็ดต้นได้ 1 เม็ด แต่ถ้าเป็นเวลาที่ทำหน้าที่รักษาการณ์อยู่ในแถว ควบคุมแถวรายงานตน เวลาเข้าหาผู้บังคับบัญชา หรือเข้าหาผู้ใหญ่ที่สมควรแสดงคารวะ ต้องขัดกระดุมทุกเม็ด การแต่งเครื่องแบบชนิดนี้ ต้องมิให้คอเสื้อหรือแขนเสื้อชั้นในแลบออกนอกเสื้อจนแลเห็นได้
               ข้อ 12. ตำรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการซ่อมเครื่องยนต์ ปฏิบัติงานในโรงงาน หรืออู่ซ่อม หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการซ่อมสร้างงานด้านสวัสดิการประชาชนในขณะปฏิบัติหน้าที่จะแต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตคอพับแขนยาว ประกอบด้วย กางเกงขายาวสีน้ำเงินก็ได้ ถ้าอยู่ในโรงงานจะใช้กางเกงขาสั้นประกอบด้วยเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำเงินก็ได้ เว้นแต่ หมวกให้ใช้หมวกแก๊ปทรงอ่อนสีน้ำเงิน
               ส่วนที่ 2 เครื่องแบบตำรวจหญิง
               หมวด 2 ส่วนของเครื่องแบบ
              
ข้อ 27. กระโปรง (1) กระโปรงสีกากียาวครึ่งน่องตรงกลางด้านหลัง มีจีบพับทับ ชายกระโปรงไม่บานและไม่มีกระเป๋า
               ข้อ 30. กระเป๋าถือมี 4 แบบ คือ
               (1) กระเป๋าถือสีขาวทำด้วยหนัง หรือวัตถุเทียมหนังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมบนสูง 20 ซม. ยาว 25 ซม.ไม่มีลวดลาย ที่กึ่งกลางฝากระโปรง ด้านนอกมีตราโล่เขนขนาด 3 ซม.
               (2) กระเป๋าถือสีน้ำตาล มีลักษณะเช่นเดียวกับกระเป๋าถือสีขาว
               (3) กระเป๋าถือสีดำขนาดใหญ่มีลักษณะเช่นเดียวกับกระเป๋าสีขาว
               (4) กระเป๋าสีดำขนาดเล็ก มีลักษณะเช่นเดียวกับกระเป๋าสีขาว เว้นแต่ สูง 15 ซม. ยาว 20 ซม.
               กระเป๋าถือทั้ง 4 แบบ ใช้สีตามแต่โอกาส โดยปกติถือด้วยมือซ้ายสำหรับกระเป๋าถือตาม (1),(2)และ(3) จะมีสายสะพายก็ได้ โดยสะพายที่ไหล่ซ้ายห้อยลงมาใต้แนวเอว
               ส่วนที่ 8 เบ็ดเตล็ด
              
ข้อ 98. ในเวลาแต่งเครื่องแบบตำรวจ ห้ามมิให้ใช้สิ่งอื่นใดติด หรือทับเครื่องแบบ นอกจากที่ทางราชการได้อนุญาต ตำรวจผู้ได้รับเสื้อครุย หรือเสื้อปริญญา ให้สวมทับเครื่องแบบตำรวจได้ ในโอกาสตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการใช้เสื้อนั้น ๆ
               การไว้ทรงผมและการแต่งเครื่องแบบตำรวจหญิง
              
1. การแต่งเครื่องแบบ
               1.1 ลักษณะและขนาดของเสื้อ กระโปรง รองเท้า และกระเป๋าถือ ให้ถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงและระเบียบที่ ตร. กำหนด สำหรับผ้าที่ใช้ตัดเครื่องแบบควรเป็นผ้าที่มีเนื้อผ้าไม่บางจน เกินไป และไม่ควรตัดรัดรูป
               1.2 ผู้ที่มีครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ให้งดการแต่งเครื่องแบบ และใช้ชุดคลุมท้องสีขาวหรือสีกากีแกมเขียว
               2. การไว้ทรงผม
               2.1 การไว้ทรงผมควรจะขมวดปลายผมให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยให้ผมยาวประบ่า หรือปรกบ่าจนปิดอินทรธนู
               2.2 หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ตกแต่งทรงผมประกอบ ก็ควรใช้กิ้บ หรือริบบิ้นขนาดเล็ก ที่เป็นสีเดียวกับสีผม
               2.3 ห้ามไว้ผมเปีย ผมแกละ ผมทรงหางมา ผมม้า (ผมปรกหน้า)หรือทรงผมอื่นที่ ไม่เหมาะสม
               2.4 ห้ามใช้ครีมแต่งผมหรือสารอื่นใดตกแต่งทรงผม ให้มองดูแล้วเหมือนผมเปียก ตามสมัยนิยมในปัจจุบัน
               อำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
              
นัยนา เกิดวิชัย (๒๕๔๗: ๕ - ๖) กล่าวถึง อำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้
               มาตรา 6 ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีดังนี้
               1. รักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองศ์ และพระราชอาคันตุกะ
               2. ดูแลควบคุม และกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               3. ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา
               4. รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร
               5. ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
               6. ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
               7. ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
               มาตรา 7 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชน มีส่วนร่วมในกิจการของตำรวจเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยของประชาชนตามความเหมาะสม และความต้องการแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ การดำเนินการมีส่วนร่วมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ต.ช. กำหนด
               ผู้เขียนเห็นว่า การพัฒนาบุคลิกภาพมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคน ทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะ กับอาชีพตำรวจ ยิ่งควรต้องศึกษา พัฒนา และปรับปรุง ข้าราชการตำรวจทุกนายยิ่งมีการศึกษา และ พัฒนาตนเองมากขึ้นเท่าไหร่ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากอาชีพตำรวจ เป็นอาชีพที่ได้รับความคาดหวังจากประชาชนไว้สูง เป็นงานบริการ และงานอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมอย่างเสมอภาค กล่าวคือ ต้องพัฒนาบุคลิกภาพของข้าราชการตำรวจให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในทรรศนะของผู้เขียน ผู้เขียนคิดว่าลักษณะบุคลิกภาพที่ดีของข้าราชการตำรวจ ควรเป็นดังนี้
               1. มีความยิ้มแย้มแจ่มใสในขณะทำงาน ไม่มีอารมณ์เสียหรือหงุดหงิด
               2. มีความเคารพนอบน้อม ไม่หยิ่งหรือเมินเฉย
               3. มีการทักทายต่อผู้อื่น อ่อนน้อม ถ่อมตน
               4. การแต่งกายเครื่องแบบถูกต้อง ตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด และ แต่งกายถูกกาลเทศะ
               5. พูดจาสุภาพ ไพเราะ น่าฟัง ชัดเจน เข้าใจง่าย
               6. ลักษณะท่าทางดี แข็งแรง วางตัวเหมาะสม มีความสง่าผ่าเผย สมกับเป็นตำรวจ
               7. ตรงต่อเวลา มีความขยันหมั่นเพียร เสียสละ รักงานบริการ
               8. ซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ประหยัด รู้จักอดออม
               9. มีความอดทน อดกลั่น มีระเบียบวินัย
               10. รักในเกียรติ และรักศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ
              
11. รักความก้าวหน้า ขยันหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา
               12. มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นัย
               13. มีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพตำรวจ มีจิตวิญญาณของความเป็นตำรวจ
               14. มีความคิดสร้างสรรค์ คิดเป็นระบบ
               15. มีความสามารถ มีทักษะ นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ
               16. มีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นธรรม
               17. มีภาวะความเป็นผู้นำ
               18. มีความรู้และทักษะในด้านการบริหารและการจัดการ
               การพัฒนาบุคลิกภาพสร้างความสำเร็จในชีวิตข้าราชการตำรวจ
              
การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นหนทางสำคัญที่จะนำตัวข้าราชการตำรวจผู้นั้นไปสู่ความสำเร็จในชีวิตเพราะการที่คนเราจะสร้างความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถสำคัญ 3 ประการ คือ
               1. ความสามารถในการครองตน คือ จะต้องดูแลตนเองให้กินดีอยู่ดี มีสุขภาพกาย สุขภาพ จิตใจที่ดี รู้จักความพอดี มีความพอใจในชีวิต และสามารถลิขิตชีวิตตนเองให้มีความสุขได้ิ
               2. ความสามารถในการครองคน คือ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เป็นที่รักใคร่ของญาติมิตร รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ความสำคัญกับผู้อื่นจนชนะใจผู้อื่นได้
               3. ความสามารถในการครองงาน คือ สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จ ในงานอาชีพ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความก้าวหน้าในงานที่รับผิดชอบ
               ความสำเร็จในชีวิตจะทำให้มนุษย์มีความสุข และสะท้อนออกมาเป็นบุคลิกภาพประจำตัวที่ดี ได้ด้วย ดังนั้น การพัฒนาบุคลิกภาพกับการสร้างความสำเร็จในชีวิต จึงเป็นสิ่งที่มีความสันพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
               บุคลิกภาพที่สัมพันธ์ระหว่างบุคคลของข้าราชการตำรวจ
              
อาชีพตำรวจ ไม่สามารถทำงานได้อย่างโดดเดี่ยว แต่จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ หมวด กอง กรม ชุมชน สังคม เป็นต้น การที่อยู่ร่วมกันก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันตลอดเวลา ดังนั้น บุคลิกภาพหรือการแสดงออกที่มีให้เห็นต่อกัน จัดเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม บุคลิกภาพของแต่ละนายแต่ละคนแสดงออกให้เห็น ดังนี้
               1. การร่วมมืองานในหน้าที่บางอย่าง ต้องกระทำเป็นกลุ่มจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เช่น การวางแผนจับผู้ร้ายสำคัญ ต้องร่วมมืออาศัยกันหลายฝ่ายหลายแผนกงาน
               2. การแข่งขัน เพื่อให้ได้ผลงานสำเร็จตามความมอบหมาย เพื่อการพิจารณาขั้นเงินเดือน มีการแข่งขันในการทำงานให้เสร็จทันตามเวลาที่กำหนด
               3. ความก้าวร้าว เป็นการกระทำของผู้ที่เกิดความเจ็บปวดทางกาย ทางจิตใจ โดยการแสดงความก้าวร้าวออกมาให้เห็นในหมู่เพื่อนร่วมงาน ในที่ทำงาน บุคคลที่แสดงความก้าวร้าวออกมาต่อผู้อื่นนั้น อาจเกิดจากสาเหตุที่สำคัญ 4 ประการ คือ ความคับข้องใจ การลงโทษ การเสริมแรง และการเลียนแบบ
               4. การขัดแย้ง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นตลอดเวลา ประกอบกับความแตกต่างในระหว่าง ชั้นยศ ตำแหน่ง ในที่ทำงาน จึงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ งานในหน้าที่บางอย่างก่อให้เกิดการชิงดีชิงเด่นกัน ในที่สุดก็จะเกิดความขัดแย้งระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายซึ่งกันและกันหรืออาจนำไปสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์งานนั้นๆ ได้
               5. การเอื้อเฟื้อ อาชีพตำรวจคำนึงถึงการเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นเป็นหลัก การช่วยเหลือพิทักษ์รับใช้ผู้อื่น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเอื้อเฟื้อของข้าราชการตำรวจ เช่น การมีตัวแบบ การเสริมแรง และการได้รับการฝึกความรับผิดชอบ เป็นต้น
               6. บุคลิกผู้นำ-ผู้ตาม สายการปกครองบังคับบัญชาในระบบตำรวจ เป็นไปตามชั้นยศ ตำแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อการมีวินัยที่เคร่งครัด และสะดวกในการมอบหมายงาน เพื่อให้งานสำเร็จเกิดประโยชน์สูงสุด ผู้นำต้องมีบุคลิกภาพที่ดี วางตัวเหมาะสม เป็นที่เคารพเลื่อมใสของผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ตามย่อมเชื่อฟังคำสั่งตามที่ได้รับมอบหมาย
               อุปสรรคในการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของข้าราชการตำรวจ
              
1. รายได้ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นในอัตราค่าครองชีพเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในครอบครัวหนี้สิน และความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบ
               2. สิ่งแวดล้อมไม่ดี ทั้งเพื่อน ผู้ร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา สถานที่ทำงาน ครอบครัว สังคมที่พัก ที่อาศัย อาจเป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวข้าราชการตำรวจ
               3. การแทรกแซงจากระบบการแต่งตั้ง การวิ่งเต้นช่วยเหลือในตำแหน่งหน้าที่ตามต้องการ ระบบเส้นสายทางการเมือง
               4. ตัวของตำรวจเอง ทั้งระบบปัจจัยภายใน เช่น สภาพจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ความไม่รู้จักพอดี ความเครียด หรือปัจจัยภายนอกรอบตัวที่สุมเข้ามา เช่น ครอบครัว หนี้สิน ระดับการศึกษา ความไม่ก้าวหน้าในอาชีพตำรวจ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย
               4. สรุป
              
ผู้ที่ปรารถนาจะพัฒนาบุคลิกภาพของตนให้ดียิ่งขึ้นนั้น จึงต้องหมั่นสำรวจ ตรวจสอบและพัฒนาส่วนต่าง ๆ ให้ทราบว่า ส่วนใดของตนยังบกพร่องที่จะต้องแก้ไข ก็ต้องรีบพัฒนาปรับปรุงแก้ไขส่วนบกพร่องนั้นให้ดียิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้ส่วนที่เสียหรือบกพร่องเจริญงอกงาม จนทำให้เกิดความเสียหาย แก่บุคลิกภาพของตน ซึ่งจะมีผลไปถึงหน้าที่การงาน ครอบครัว ความคิด การวางตัว การเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงาน การดำเนินชีวิตของตนอีกด้วย
               การพัฒนาบุคลิกภาพ จะเป็นการพัฒนาตนให้เป็นคนดีของสังคม เป็นพลเมืองที่ดีในที่สุด บุคลิกย่อมมีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เวลา โอกาส บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ
               บุคลิกภาพทำให้มองเห็นความแตกต่างของแต่ละบุคคล เพราะบุคลิกภาพ คือ พฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ ว่าดีหรือไม่ดี จะมีพฤติกรรมอย่างไรต่อไป หรืออาจจะสามารถทำนายพฤติกรรมในอนาคตได้ด้วย
               บุคลิกภาพที่ดีเกิดจากพฤติกรรมที่ดี ที่ถูกต้อง ซึ่งเหมาะสมเป็นที่ยอมรับ ชื่นชมของสังคมและบุคคลทั่วไป ผู้มีบุคลิกภาพที่ดีสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี กลมกลืน เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม และสังคม เป็นแนวทางที่จะสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น ต่อไปในภายภาคหน้า
               บุคคลที่มีบุคลิกภาพไม่ดี ก็คือผู้ที่มีพฤติกรรมไม่ดี ย่อมเป็นคนไร้เสน่ห์ อาจจะเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม จนกระทั่งมีปัญหาในการคบหาสมาคมและการปฏิสัมพันธ์ในสังคมอีกด้วย
               หากจะกล่าวโดยสรุป บุคลิกภาพ หมายถึง คุณลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล หรือทุกสิ่ง ทุกอย่างที่รวมกันขึ้นเป็นตัวบุคคล เช่น รูปร่าง หน้าตา ท่าทาง กิริยา มารยาท การแต่งกาย การแสดงออก การพูด การคิด ความรู้สึก ทัศนคติ ความต้องการ อารมณ์ ความสนใจ ฯลฯ เป็นต้น
               เนื่องจากบุคลิกภาพเป็นองค์ประกอบในภาพรวมของบุคคล หากผู้ใดมีคุณสมบัติบุคลิกภาพครบถ้วนมากเท่าไร ผู้นั้นก็จะมีเสน่ห์ มีบุคลิกที่ดีที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น จะเห็นว่าคุณสมบัติแต่ละอย่างของบุคลิกภาพไม่ใช่สิ่งสำคัญหรือจำเป็นที่สุด แต่ต้องมีหลาย ๆ ส่วนประกอบกัน จึงจะเป็นสิ่งสำคัญ รวมกันในการเสริมสร้างบุคลิกภาพของบุคคลให้สมบูรณ์
               ผู้เขียนเห็นว่า ทั้งแนวทางการพัฒนาบุคลิกภาพฐานะที่เป็นข้าราชการตำรวจ หากได้มีการบูรณาการประยุกต์นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละบุคคลแล้ว ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ ทั้งส่วนตน ส่วนรวม และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป
              
บรรณานุกรม
               นัยนา เกิดวิชัย. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 .นครปฐม, 2547.
               พระราชบัญญัติวัฒนธรรม แห่งชาติ พุทธศักราช 2485.
               พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485.
               มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. มนุษย์กับสังคม สาขาวิชาศิลปศาสตร์ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543.
               วิจิตร อาวะกุล. บุคลิกภาพ เทคนิคและหลักการพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.
               วิสูตร ธนชัยวิวัฒน์. ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี เล่ม 1 ประเภทบุคคล . กรุงเทพฯ : สูตรไพศาลการพิมพ์, 2536.
               สุพัตรา สุภาพ. สังคมและวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.