ธรรมะกับตำรวจมืออาชีพ
โดย...พ.ต.ท.ประสิทธิ์ สุขขวัญ อจ.(สบ 2) กลุ่มงานอาจารย์ ศฝร.ภ.8

          บทนำ
                   เมื่อพูดถึงธรรมะในพุทธศาสนาแล้ว เชื่อว่าความรู้ ความเข้าใจ ความศัทธา และการนำไปปฏิบัติของประชาชนโดยเฉพาะข้าราชการตำรวจแล้วจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ ความสนใจ การรับรู้ ซึมซับเนื้อหาของธรรมะ บางคนเข้าใจว่าธรรมะเป็นเรื่องของคนสูงอายุไม่เกี่ยวกับเด็กหรือคนหนุ่มสาว เป็นเรื่องของคนเบื่อโลก คนไม่ทันสมัย ยิ่งกว่านั้นบางคนถือว่าธรรมะเป็นยาขมหม้อใหญ่เลยทีเดียว แต่ความจริงแล้วธรรมะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของคนทุกคนทุกระดับ เกี่ยวข้องตั่งแต่แรกเกิดจนตาย แต่เนื่องจากมนุษย์มีความไม่รู้ และถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ทุกคนจึงประสบกับปัญหาหรือความทุกข์ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจไม่มายก็น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนจนก็ทุกข์ คนรวยก็ทุกข์ เด็กก็ทุกข์ ผู้ใหญ่ก็ทุกข์ โดยสัจธรรมแล้วไม่มีมนุษย์คนใดในโลกนี้สามารถเอาชนะความทุกข์ได้เด็ดขาดสิ้นเชิง การปฏิบัติธรรมะเท่านั้นที่บรรเทาความทุกข์ของมนุษย์ได้ลดลง ธรรมะเท่านั้นที่จะตอบคำถามได้ว่ามนุษย์คืออะไร สาเหตุของความทุกข์ สภาพการพ้นทุกข์ และแนวทางแก้ความทุกข์มีอย่างไรบ้าง
                   ดังนั้น ธรรมะจึงมีประโยชน์กับมนุษย์ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ ทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะงานตำรวจแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำหลักธรรมะมาประยุกต์ใช้ให้เกิดกับการปฏิบัติหน้าที่เพราะงานตำรวจเป็นที่มีความรับผิดที่หนักหน่วงและกว้างขวาง แต่เนื่องจากหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนามีจำนวนมาก ผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอเป็นบางหัวข้อเท่านั้น และเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับอย่างแน่นอน
                   1. ตำรวจมืออาชีพ
                   ความหมายของ "ความหมายของมืออาชีพ" มีผู้ให้ความหมายและอธิบายไว้ดังนี้ ( หวน พันธุพันธ์ : 18 , 2549 )
                   มืออาชีพ หมายถึง การทำงานด้วยความรู้ความสามารถ ความตั้งใจจริงและทำงานให้เกิดผลดีที่สุด
                   มืออาชีพ หมายถึง ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เป็นอย่างมากจนกระทั้งสามารถนำความรู้ความชำนาญที่มีอยู่นั้นไปประกอบอาชีพได้ ถ้าเก่งถึงขั้นก็เรียกมืออาชีพด้วย
                   มืออาชีพ หมายถึง ผู้ที่มีความสามารถและประสบการสูงในงานที่ทำ ทำงานทุกครั้งจะทำให้บรรลุเป้าหมายในโอกาศที่จะล้มเหลวผิดพลาดแทบจะไม่มีผู้บริหารสามารถไว้วางใจได้เมื่อมอบหมายงานให้ทำ คำนี้ตรงกันข้ามกับ "ตรงกันข้ามกับมือสมัครเล่น" ผู้ฝึกงานซึ่งเป็นผู้เข้ามารับงานไม่นานยังขาดทักษะประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งต้องมีหัวหน้าคอยแนะนำแก้ไขปรับปรุงอยู่ด้วยเพราะไม่สามารถทำงานคนเดียวได้
                   มืออาชีพ ( PROFESSIONAL ) เป็นคำที่เราไปยืมมาจากวงการกีฬา ในวงการกีฬา มีอยู่ 2 คำ คือ มืออาชีพและมือสมัครเล่น ซึ่งความแตกต่างกันได้ชัดเจน หากเมื่อไหร่เป็นมืออาชีพแปลว่า คนคนนั้นต้องดำรงชีวิตด้วยกีฬาประเภทนั้นมีเงื่อนไขมากมายที่ต้องปฏิบัติตาม
2. หน้าที่ของตำรวจ
                   อำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 (นัยนา เกิดวิชัย , 2547)
                   (1) ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา
                   (2) รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร
                   (3) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
                   3. ธรรมะกับงานตำรวจ
                   ธรรมะในพระพุทธศาสนามีมากมาย ล้วนแต่มีประโยชน์กับงานตำรวจทั้งสิ้น ในที่นี้ขอนำเสนอเพียง 2 หลักธรรม ดังนี้
                   3.1 อิทธิบาท 4 เป็นหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งกิจการนั้นๆ ซึ่งได้แก่
                   3.1.1 ฉันทะ มีใจรัก คือ พอใจจะนำสิ่งนั้นและทำด้วยใจรัก ต้องการให้เป็นผลสำเร็จอย่างดีแห่งกิจหรืองานที่ทำ
                   3.1.2 วิริยะ พากเพียรทำ คือ ขยันหมั่นประกอบหมั่นกระทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย ก้าวไปข้างหน้าจนกว่าจะสำเร็จ
                   3.1.3 จิตตะ เอาจิตใจฝักใฝ่ คือ ตั้งจิตรับรู้สิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด ไม่ปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยใช้ความคิดเรื่องนั้นบ่อยๆ เสมอๆ ทำกิจหรืองานนั้นอย่างอุทิศตัวอุทิศใจ
                   3.1.4 วิมังสา ใช้ปัญญาสอบสวน คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนเกินเลยขัดข้อง เป็นต้น เพื่อจัดการและดำเนินงานนั้นให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป
                   3.2 ฆราวาสธรรม 4 ประการ
                   3.2.1 สัจจะ ความจริง คือ ดำรงหมั่นในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง จะอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้
                   3.2.2 ทมะ ฝึกตน คือ บังคับควบคุมตนเองได้ รู้จักปรับตัว และแก้ไขปรับปรุงให้ก้าวหน้าดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
                   3.2.3 ขันติ คือ มุ่งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย
                   3.2.4 จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์ สละโลก ละทิฐิมานะ ร่วมงานกับคนอื่นได้ ไม่ใจแคบเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ใจตน
                   4. บทสรุป
                   อำนาจหน้าที่ของตำรวจมีมากมายกว้างขวางทั้งงานป้องกันปราบปราม การกระทำผิดทางอาญาและการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตลอดงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องมากมายลักษณะงานของตำรวจจะใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทำให้ได้รับความคาดหวังจากประชาชนและสังคมสูง บางครั้ง บางสถานการณ์ และตำรวจส่วนน้อยกระทำการผิดพลาดก็จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของตำรวจทั้งระบบ โดยเฉพาะจะกระทบกับความรู้สึกในแง่ลบของประชาชนอย่างยากที่จะลบเลือน ดังนั้น ทำให้ความรู้สึกของตำรวจอีกส่วนหนึ่งเกิดความเครียดท้อถอยและหมดกำลังใจ
                   ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าการฝึกปฏิบัติตามหลักธรรมะดังกล่าวในข้างตนจะช่วยได้มาก เช่น การทำงานให้เกิดความสำเร็จก็ต้องมีความรักความพอใจในงาน ความเชื่อมั่นศรัทธาเป็นลำดับแรก จากนั้นก็มีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่อความเจ็บใจในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการเอาใจใส่จดจ่อกับงานที่ทำ ตลอดจนการพิจารณาการทำงานไตร่ตรองอย่าสม่ำเสมอ นอกจากนั้นตำรวจไม่ว่าสายงานใดก็ตามต้องมีสัจจะ ความจริงใจ หมั่นฝึกตนพัฒนาตน อดทนอดกลั้น เสียสละ มีน้ำใจกับสุจริตชนและผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ การเอาหลักธรรม มาปฏิบัติอาจจะไม่เห็นผลในระยะอันสั้น ต้องใช้ความอดทน เชื่อว่าตำรวจทุกคนปฏิบัติได้ และจะเป็นตำรวจมืออาชีพได้อย่างไม่ยากนัก

                   บรรณานุกรม

                   นัยนา เกิดวิชัย พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547. นครปฐม , 2547
                   พระธรรมปิฎก (ปอ. ปยุตโต) พุทโธโลยีธรรมนูญชีวิต. กรุงเทพฯ : พระพุทธศาสนาประกาศ , 2547
                   หวน พันธุพันธ์ นักบริหารมืออาชีพ. กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ , 2539